ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บริการวิชาการ

โครงการพัฒนาวิชาการ “การบริการตรวจวินิจฉัยโรคทางปรสิตวิทยาในสัตว์”
ภาควิชาปรสิตวิทยา มีพันธกิจหลักในงานการเรียนการสอนให้กับนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านปรสิตวิทยาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น นอกจากนี้ภาควิชายังได้รับผิดชอบในงานชันสูตรโรคติดเชื้อปรสิตให้กับโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งงานหลักของการชันสูตรโรคทางปรสิตเป็นงานตรวจวินิจฉัยพื้นฐาน ได้แก่ การตรวจอุจจาระเพื่อวินิจฉัยการติดพยาธิภายในและโปรโตซัว การตรวจเลือดเพื่อหาไมโครฟิลาเรียของพยาธิ Dirofilaria immitis และ Brugia spp. การแยกชนิดพยาธิภายในและพยาธิภายนอก ที่ผ่านมาภาควิชามีการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาซึ่งอาจารย์ในภาควิชาได้ร่วมกับนิสิตในการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อปรสิตที่มีความไวและความแม่นยำมากกว่าการตรวจด้วยวิธีพื้นฐานโดยใช้เทคนิคทางชีวโมเลกุลและทางเซรุ่มวิทยา ทำให้ในปัจจุบันภาควิชามีความสามารถให้บริการทางวิชาการในการตรวจวินิจฉัยโรคได้มากกว่าเดิมโดยเฉพาะโรคติดเชื้อโปรโตซัวซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในชีวิตของสัตว์และความเสียหายทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริการชันสูตรโรคปรสิตนี้จะเป็นหน่วยสนับสนุนและเป็นการตอบสนองในการที่คณะสัตวแพทยศาสตร์มีแนวคิดในการผลักดันให้โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นโรงพยาบาลสัตว์ชั้นนำในเอเชีย รวมทั้งการเป็นโรงพยาบาลสัตว์อ้างอิง และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้คลินิกเอกชนภายนอกได้รับการบริการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีความแม่นยำและชื่อถือได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคของนายสัตวแพทย์ได้มากขึ้น นอกจากนี้งานบริการทางวิชาการอื่นที่ภาควิชาปรสิตวิทยาสามารถทำได้อีก คือ งานจัดทำตัวอย่างสไลด์ถาวรของพยาธิภายในและพยาธิภายนอก บุคลากรของภาควิชามีความเชี่ยวชาญในการจัดเตรียมตัวอย่างถาวรดังกล่าวเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนในวิชาทางปรสิตวิทยา ซึ่งสามารถให้บริการเตรียมตัวอย่างแก่หน่วยงานอื่นๆ ในระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียน ที่มีความต้องการตัวอย่างปรสิตจากสัตว์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนได้อีกด้วย ดังนั้นการให้บริการทางวิชาการและงานตรวจวินิจฉัยโรคปรสิตนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือสังคมแล้วยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการหารายได้ให้กับภาควิชา

วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการตรวจวินิจฉัยโรคปรสิตในสัตว์
2. เพื่อสนับสนุนงานการเรียนการสอน และงานวิจัยของภาควิชา
3. เพื่อเป็นการหารายได้เข้าภาควิชาจากงานบริการวิชาการ
4. เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรฐานโรงพยาบาลสัตว์อ้างอิง